แมลงช้างปีกใส Mallada basalis

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Chrysopa basalis Walker ( Mallada basalis Walker )
ชื่อสามัญ : Green Lacewings
อันดับ (Order) : Neuroptera
วงศ์ (Family) : Chrysopidae

 

บทบาทและความสำคัญ
แมลงช้างปีกใส ระยะที่เป็นตัวอ่อน ดำรงชีวิตเป็นตัวห้ำ กินทั้งไข่และตัวอ่อนของแมลงศัตรูพืชหลายชนิด เช่น เพลี้ยอ่อน เพลี้ยแป้ง เพลี้ยหอย เพลี้ยไฟ ไรแดง แมลงหวี่ขาว ไข่และตัวหนอน วัย 1-2 ของหนอนผีเสื้อหลายชนิด เช่น หนอนเจาะสมอฝ้าย หนอนม้วนใบ หนอนชอนใบส้มเป็นต้น เหยื่อที่ชอบมากที่สุด คือเพลี้ยอ่อน แมลงช้างปีกใสชนิดนี้ เมื่อกินเหยื่อแล้วจะเอาซากของเหยื่อเก็บไว้บนหลังเพื่อเป็นการพรางตัวเองจากศัตรู ตัวเต็มวัยของแมลงช้างปีกใสจะกินน้ำหวานจากเกสรดอกไม้และน้ำหวานที่พวกเพลี้ยสกัดออกมาจากลำตัว
  รูปร่างและลักษณะการเจริญเติบโต
   
  ไข่ – เป็นทรงรี สีเขียวอ่อน ติดอยู่ที่ปลายก้าน ก้านมีสีขาวใส เมื่อไข่ใกล้ฟัก จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล และดำ ตามลำดับ ระยะไข่ 3 - 5 วัน

 
  ตัวอ่อน – รูปร่างคล้ายลูกจระเข้ สีน้ำตาลอ่อน เมื่อโตเต็มที่ลำตัวยาวประมาณ 0.8 – 1.0 ซม. ระยะนี้ เป็นระยะที่ ดำรงชีวิตแบบตัวห้ำ  ตัวอ่อนมักจะนำซากของเหยื่อไปเก็บไว้บนหลังจนมองไม่เห็นลำตัวที่แท้จริง ตัวอ่อนมีอายุ ประมาณ 12-14 วัน
 
  ดักแด้ – รูปทรงกลม สีขาวปนเทา ขนาดใกล้เคียงกับเมล็ดข้าวฟ่าง อายุ 7 – 10 วัน
 
  ตัวเต็มวัย – สีเขียวอ่อน ปีกบางโปร่งฉลุคล้ายลูกไม้ สีเขียว ลำตัวเรียว บอบบาง ยาวประมาณ 1.0 – 1.8 ซม. มีอายุประมาณ 1 เดือน
 
   
วิธีการนำไปใช้ควบคุมศัตรูพืช

แมลงช้างปีกใส สามารถนำไปใช้ควบคุมศัตรูพืชได้ทั้งใน พืชไร่ ไม้ผล ไม้ดอก และพืชผัก ที่มีแมลงศัตรูพืช(ที่เป็นแมลงอาหารของแมลงช้างปีกใส)ระบาด ซึ่งก่อนนำไปใช้ ควรมีการสำรวจแปลงปลูกพืชก่อน

1. กรณีสำรวจพบศัตรูพืช มีปริมาณน้อย (1-2 ตัวต่อจุดสำรวจ) ปล่อยตัวอ่อนแมลงช้างปีกใส อัตรา 100 ตัว/ไร่ ในพืชไร่ พืชผัก และไม้ดอก ส่วนในไม้ผลให้ปล่อย 100 ตัว/ต้น
2. กรณีสำรวจพบศัตรูพืชในปริมาณสูง ปล่อยตัวอ่อนแมลงช้างปีกใส อัตรา 2,000 ตัว/ไร่ ในพืชไร่ พืชผัก และไม้ดอก ส่วนในไม้ผลให้ปล่อย 2,000 ตัว/ต้น
การปล่อยควรปล่อยเป็นจุดๆ ให้กระจายไปทั่วทั้งแปลงปลูก ในเวลาเย็นหรือหลีกเลี่ยงช่วงที่แสงแดดจัด